ศึกษาต่อต่างประเทศ ไม่ยากอย่างที่คิด ค้นหาโรงเรียนสอนภาษากว่า 600 แห่ง ใน 6 ประเทศ

เรียนรู้หลักเกณฑ์การใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภา

26 กุมภาพันธ์ 2562 ทิปส์ English โรงเรียนสอนภาษา

เรียนรู้หลักเกณฑ์การใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภา จะได้นำไปใช้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเขียน หรือพิมพ์ จะมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ!

english

ไหน ใครมีปัญหาการใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษกันบ้าง? บางทีเราก็มีไม่มั่นใจกันบ้างใช่ไหมล่ะคะ กับคำศัพท์ที่เรายืมมาจากภาษาอังกฤษ หรือกังวลว่าจะใช้ไม่ถูกต้องตามหลักที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้กำหนดไว้ ลองมาเรียนรู้ จากบทความนี้กัน หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภา

การทับศัพท์ ?

การทับศัพท์ หรือ การปริวรรต ก็คือ การถอดอักษร เปลี่ยนแปลงข้อความจากระบบการเขียนในภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่งอย่างมีหลักการ ทำให้สามารถเขียนคำในภาษาต่างประเทศด้วยภาษาและอักษรในภาษานั้นๆ ได้สละสลวย เข้าใจได้ โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้

#1 คำย่อ

  • ให้เขียนชื่อตัวอักษรนั้นเป็นภาษาไทย คำย่อให้เขียนติดกัน โดยไม่ใส่จุดและไม่เว้นวรรค เช่น F.B.I. = เอฟบีไอ
  • คำทับศัพท์ที่ผูกขึ้นจากตัวย่อ สามารถอ่านออกเสียงได้เสมือนคำคำหนึ่ง ไม่ต้องออกเสียงเรียงตัวอักษร ให้เขียนตามเสียงที่ออกและไม่ต้องใส่จุด เช่น UNESCO = ยูเนสโก
  • ตัวย่อชื่อบุคคล ให้เขียนโดยใส่จุด และเว้นช่องไฟระหว่างชื่อกับนามสกุล เช่น S.A. Samatha = เอส.เอ. สแมนทาร์

#2 คำคุณศัพท์ชนชาติประเทศต่างๆ

ให้ทำการทับศัพท์ในรูปคำนามที่เป็นชื่อประเทศ เช่น Taiwanese people = คนไต้หวัน , Hungarian dance = ระบำฮังการี (ไม่ใช่ ระบำฮังกาเรียน)

#3 การวางตำแหน่งคำคุณศัพท์ในคำทับศัพท์

  • คำคุณศัพท์ที่ประกอบคำนามที่เป็นภาษาไทย หรือเป็นคำทับศัพท์ แต่ได้ใช้ในภาษาไทยมาจนถือเป็นคำไทยแล้ว ให้วางคำคุณศัพท์ไว้หลังคำนาม
  • ถ้าทั้งคำคุณศัพท์และคำนามเป็นคำทับศัพท์ที่ยังไม่ถือเป็นคำไทย ให้ทับศัพท์ตรงตามศัพท์เดิม
  • ถ้าต้องการเน้นว่าคำนามนั้นเป็นสิ่งที่มีหลายชนิดและคำคุณศัพท์ที่ประกอบเป็นชนิดหนึ่งของคำนามนั้น อาจทับศัพท์โดยใช้คำประกอบเช่น ชนิด ระบบ ฯลฯ มาแทรกไว้ระหว่างคำนามกับคำคุณศัพท์

#4 คำคุณศัพท์ที่มาจากคำนาม

  • ถ้าคำคุณศัพท์นั้นมีความหมายเหมือนคำนาม หรือหมายความว่า เป็นของ หรือ เป็นเรื่องของ คำนามนั้นให้ทับศัพท์ในรูปคำนาม
  • ถ้าคำคุณศัพท์นั้นมีความหมายว่า เกี่ยวข้องกับ หรือ เกี่ยวเนื่องจาก คำนามนั้น ให้ทับศัพท์ในรูปคำนามโดยใช้ คำประกอบ เชิง แบบ อย่าง ทาง ชนิด ฯลฯ แล้วแต่ความหมาย เช่น electronic power conversion = การแปลงผันกำลังเชิงอิเล็กทรอนิกส์
  • ในกรณีที่การทับศัพท์ในรูปคำนามตาม 2 ข้อด้านบน ทำให้เกิดความหมายกำกวมหรือคลาดเคลื่อน ให้ทับศัพท์ในรูปคำคุณศัพท์

#5 คำคุณศัพท์ที่มาจากชื่อบุคคล

ให้ทับศัพท์ตามชื่อของบุคคลนั้นๆ โดยใช้คำประกอบ ของ แบบ ระบบ ฯลฯ แล้วแต่ความหมาย ยกเว้นในกรณีที่คำคุณศัพท์ที่มาจากชื่อบุคคล เป็นชื่อเฉพาะที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในแต่ละวงการ ซึ่งอาจสังเกตได้จากการที่ในภาษาอังกฤษไม่ได้ใช้อักษรตัวใหญ่ขึ้นต้น ให้ทับศัพท์ในรูปคำคุณศัพท์

#6 Double Letter

Double Letter หรือพยัญชนะซ้อน คำศัพท์ใดที่มีพยัญชนะซ้อนเป็นตัวสะกด หากเป็นคำทั่วไป ให้ตัดออกตัวหนึ่ง Ball = บอล Tall = ทอล Hill = ฮิล แต่ถ้าเป็นศัพท์ทางวิชาการหรือวิสามานยนามให้เก็บไว้ทั้ง 2 ตัว โดยใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตไว้ที่ตัวท้าย เช่น Cell = เซลล์ (ไม่ใช่ เซล) James Watt = เจมส์วัตต์ ถ้าพยัญชนะซ้อนอยู่กลางศัพท์ให้ถือว่า พยัญชนะซ้อนตัวแรกเป็นตัวสะกดของพยางค์หน้า และพยัญชนะซ้อนตัวหลัง เป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ต่อไป เช่น Pattern = แพตเทิร์น Broccoli = บรอกโคลี

#7 คำประสมซึ่งในภาษาอังกฤษเขียนแยกกัน ไม่ติดกัน

เมื่อทับศัพท์ให้เขียนติดกันไป ไม่ต้องแยกคำตามภาษาเดิม เช่น night club = ไนต์คลับ New Zealand = นิวซีแลนด์ 

#8 คำที่ตัวสะกดของพยางค์หน้าออกเสียงเป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ตัวต่อไป

  • หากสระของพยางค์หน้าเป็นเสียงสระอะ ซึ่งเมื่อทับศัพท์ต้องใช้รูปไม้หันอากาศ ให้ซ้อนพยัญชนะตัวสะกดของพยางค์หน้า เข้าอีกตัวหนึ่งเพื่อเป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ต่อไป เช่น double = ดับเบิล couple = คัปเปิล
  • หากสระของพยางค์หน้าเป็นสระอื่นที่ไม่ใช่สระอะ ให้ทับศัพท์ตามรูปพยัญชนะภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องซ้อนพยัญชนะ เช่น California = แคลิฟอร์เนีย
  • หากเป็นคำที่เกิดจากการเติมปัจจัย เช่น -er, -ing, -ic, -y และการทับศัพท์ตามรูปพยัญชนะภาษาอังกฤษดังข้อ 7.2 อาจทำให้ออกเสียงผิดไปจากภาษาเดิมมาก ให้ซ้อนพยัญชนะตัวสะกดของพยางค์ต้นอีกหนึ่งเพื่อให้เห็นเค้าคำเดิม เช่น booking = บุกกิง

#9 คำประสมที่มีเครื่องหมายยัติภังค์ (Hyphen)

ทับศัพท์โดยเขียนติดต่อกันไป เช่นคำว่า Cross-stitch = ครอสสติตช์ (ไม่ใช่ ครอส-สติตช์) ยกเว้นในกรณีที่เป็นศัพท์ทางวิชาการหรือวิสามานยนามให้คงไว้ เช่น Cobalt-60 = โคบอลต์-60

#10 สระ ให้ถอดตามการออกเสียงในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ

โดยเทียบเสียงสระภาษาไทยตามตารางเทียบเสียงสระภาษาอังกฤษ 

#11  พยัญชนะ ให้ถอดเป็นพยัญชนะภาษาไทย

ตามหลักเกณฑ์ในตารางเทียบพยัญชนะ ภาษาอังกฤษ

#12 การใช้เครื่องหมายทัณฑฆาต (เครื่องหมายการันต์)

  • พยัญชนะตัวที่ไม่ออกเสียงในภาษาไทย ให้ใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับไว้ เช่น Horn = ฮอร์น
  • คำหรือพยางค์ที่ตัวสะกดมีพยัญชนะตามมาหลายตัว ให้ใส่เครื่องหมายทัณฑฆาต ไว้บนพยัญชนะที่ไม่ออกเสียงตัวสุดท้ายเพียงที่เดียว เช่น  Okhotsk = โอค็อตสก์
  • คำหรือพยางค์ที่มีพยัญชนะไม่ออกเสียงอยู่หน้าตัวสะกด ที่ยังมีพยัญชนะตามหลังมาอีก ให้ตัดพยัญชนะที่อยู่หน้าตัวสะกดออก และใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตไว้บนพยัญชนะตัวสุดท้าย เช่น world = เวิลด์  quartz = ควอตซ์  first = เฟิสต์

#13 การใช้ไม้ไต่คู้ หรือเครื่องหมายวรรณยุกต์ ควรใช้ในกรณีต่อไปนี้

  • เพื่อให้เห็นแตกต่างจากคำไทย เช่น log = ล็อก (ให้ต่างจากคำว่า ลอก ในภาษาไทย) coma = โคม่า (ไม่ใช่ โคมา ที่ออกเสียงว่า (วัวมา)
  • เพื่อช่วยให้ผู้อ่านแยกพยางค์ได้ถูกต้อง เช่น Okhotsk = โอ-ค็อตสก์

ข้อมูลอ้างอิงจาก royin

สำหรับน้องๆ คนไหนที่สนใจไปศึกษาต่อด้านภาษาในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร แคนาดา สหรัฐอเมริกา และไอร์แลนด์ สามารถลงทะเบียนกับ SI-English ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาต่อในต่างประเทศ เพื่อขอรับคำแนะนำจากเราฟรีได้แล้วตั้งแต่วันนี้ หรือสามารถค้นหาคอร์สเรียนภาษาในโรงเรียนภาษาที่ตรงใจได้ที่นี่เลยค่ะ!

บทความที่เกี่ยวข้องน่าสนใจอื่นๆ

Grammar: 5 Tense ภาษาอังกฤษที่คุณจำเป็นต้องรู้

5 เทคนิคการเขียน Email ภาษาอังกฤษให้ดูดีแบบมืออาชีพ!

เรียนภาษาที่ “อังกฤษ” ใน 5 เมืองสุดคูลที่ใครๆก็อยากไป

© SI-English | All rights reserved | Privacy Policy