ศึกษาต่อต่างประเทศ ไม่ยากอย่างที่คิด ค้นหาโรงเรียนสอนภาษากว่า 600 แห่ง ใน 6 ประเทศ

Essay ไม่ใช่เรื่องยาก !! รวมวิธีเขียน เคล็ดลับ และจุดห้ามพลาด

28 พฤษภาคม 2561 reading ทิปส์ การเขียน essay

เพื่อน ๆ กำลังเตรียมตัวสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยกันอยู่ใช่มั้ยคะ? สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ต้องทำก็คือ การเขียน Essay เป็นการเขียนเรียงความรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเอสเส เป็นหนึ่งในเอกสารประกอบการพิจารณารับคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาต่างประเทศ เป็นเรียงความที่เขียนบรรยายเกี่ยวกับคุณสมบัติของตัวเราเอง การเขียน Essay ไม่ใช่เรื่องยาก วิธีเขียน เคล็ดลับ และจุดห้ามพลาด รวมอยู่ในบทความนี้แล้ว (ลองดู How to write an Essay เขียน Essay อย่างไรให้ได้ไปเรียนต่อ)

essay

เคล็ดลับการเขียนเรียงความ Essay

เขียนเรียงความให้น่าจดจำ Essay เป็นโอกาสที่จะทำให้กรรมการรู้จักน้องๆ ได้มากขึ้น นอกเหนือไปจากข้อมูลต่างๆ เช่น เกรดเฉลี่ย, อันดับในชั้นเรียน, คะแนนสอบ, กิจกรรมที่เคยเข้าร่วม เป็นต้น เป้าหมายของเอสเส ก็คือจะต้องทำให้เรียงความของตัวเองโดดเด่นกว่าของคนอื่น จนสามารถเอาชนะผู้ที่ที่คุณสมบัติใกล้เคียงกับเราได้ พูดง่ายๆ ก็คือทำให้กรรมการจดจำเราได้ และอยากที่จะรู้จักเรามากขึ้นค่ะ

ตอบคำถามตรงประเด็น เรียงความที่ดี ควรเริ่มต้นด้วยใจความหลักที่บอกถึงเหตุผลที่เรอยากจะเข้ามหาวิทยาลัยนั้นๆ มากกว่าการที่จะเอาเหตุผลนั้นไปอยู่ช่วงกลาง หรือท้ายของเรียงความเลย เชื่อมโยงให้ถูกและตรงประเด็นนะคะ ผู้สมัครหลายๆ คนพลาดเพราะคำถามง่ายๆ เพียงแค่ทำไมถึงต้องการที่จะเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย (ชื่อมหาวิทยาลัย) เป็นต้น

เขียนแต่ความจริงเท่านั้น  กรรมการสามารถจับได้นะคะว่าใครเขียนเรื่องจริง หรือเรื่องแต่ง ดังนั้น น้องๆ จะต้องเขียนแต่ความจริง ออกมาจากความรู้สึกจริงๆ อย่าปรุงแต่ง ถ่ายทอดความเป็นตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด แล้วกรรมการจะตัดสินและมองผ่านจากเรียงความที่เราเขียนว่าเราสามารถเป็นนักศึกษาที่ดีในมหาวิทยาลัยนั้นได้หรือไม่ค่ะ

ลองเขียนเรื่องราวที่แตกต่างจากเดิมๆ ลองเขียนถึงข้อด้อยของเรา อธิบายให้กรรมการได้เห็นว่าเราจะก้าวผ่านสิ่งเหล่านั้นได้ยังไง กล้าที่จะเขียนอะไรที่แตกต่างดูบ้าง กรรมการคงจะเบื่อในเนื้อเรื่องซ้ำซากเดิมๆ แล้ว อย่างน้อย ความกล้าที่จะแตกต่างในครั้งนี้ ก็จะทำให้งานเขียนเอสเสของน้องๆ ไม่ถูกกลืนไปกับงานของคนอื่น แต่อย่าได้เสี่ยงมากจนเขียนเรื่องที่น่าหดหู่มากเกินไปนะคะตอบคำถามเป็นเรื่องสั้นเพื่อให้น่าสนใจ การตอบคำถามเป็นประโยคเรียงความนั้น กลายเป็นสิ่งที่ธรรมดาไปแล้วค่ะ สำหรับคนที่ชอบความแตกต่าง เน้นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เราเชื่อว่าคุณตอบคำถามได้ดีกว่านั้น ลองตอบคำถามเป็นเรื่องสั้นดูไหมคะ ? เรียงความของเราจะได้ดูน่าสนใจ น่าอ่านมากขึ้น นอกจากนั้นยังทำให้กรรมการจดจำเราได้อีกด้วยค่ะ อาจจะลองเขียนขึ้นต้นด้วยบทำ เนื้อเรื่องที่มีเหตุการณ์น่าสนใจ และบทสรุปแบบสั้นๆ

ลองเขียนแบบแผนผัง หากต้องการตัวช่วยที่จะทำให้เรียงความดูมีเหตุผล มีการลำดับอธิบายที่ดีและเนื้อหาที่ครบถ้วน การเขียนแบบแผนผังก็น่าสนใจนะคะ

รูปแบบประโยค active voice บางคนอาจจะสงสัยว่าการใช้รูปประโยค  active voice นั้นสำคัญอย่างไร active voice จะทำให้เอสเสของน้องๆ มีความดึงดูดและชัดเจน อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น เนื่องจากข้อความจะสั้นและกระชับขึ้นค่ะ

เน้นเขียนในสไตล์ที่อ่านง่ายเข้าไว้ การใช้คำศัพท์หรือโครงสร้างประโยคที่ยากๆ ไม่ได้ช่วยเพิ่มคะแนนพิเศษให้น้องๆ นะคะ ไม่ได้มีความจำเป็นขนาดนั้น เน้นเขียนในสไตล์ที่อ่านง่าย กระชับ ตรงประเด็น โดยใช้คำศัพท์และรูปแบบโครงสร้างประโยคที่ตนเองถนัด และมั่นใจว่าถูกต้องจะดีกว่านะคะ (ลองดู 4 เทคนิคการเขียน essay แบบมืออาชีพ)

หลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดในงานเขียน ตรวจสอบการเขียน คำผิด ไวยากรณ์ การสะกดให้ดีทุกครั้ง และหากมีการอ้างอิง ก็ควรตรวจสอบความถูกต้องอย่างชื่อของผู้แต่ง ชื่อหนังสือ และอื่นๆ คำศัพท์ภาษาอังกฤษบางคำนั้นออกเสียงเหมือนกัน แต่สะกดไม่เหมือนกัน อย่าลืมเช็คในเรื่องนี้ด้วยนะคะ มันอาจจะทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสน และที่สำคัญหลีกเลี่ยงการใช้คำสแลง ภาษาเฉพาะกลุ่ม เพราะเรียงความ คืองานเขียนที่เป็นทางการ นอกจากการตรวจทานด้วยตนเอง อย่าลืมที่จะให้เพื่อนอย่างน้อยหนึ่งคนช่วยตรวจทานด้วยนะคะ

อย่าเขียนเรียงความเพียงฉบับเดียว ไม่มีนักเขียนคนไหนที่จะเขียนงานเพียงครั้งเดียวแล้วได้ผลงานที่ดีที่สุดออกมาหรอกนะคะ น้องๆ ก็เช่นกัน อย่าหยุดที่จะทำให้เรียงความของเราดีขึ้น เขียนหลายๆ ครั้ง หาจุดข้อผิดพลาด จุดที่จะทำให้เราดีขึ้น ใส่ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปรับแต่งทำให้เรียงความของเราออกมาดีที่สุด อย่างที่ทราบกันว่าเอสเส นั้นมีผลต่อการคัดเลือกเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก ดังนั้นควรจะต้องเปิดใจยอมรับการแก้ไขซ้ำๆ จนกว่าตัวเอง และคนที่ช่วยตรวจสอบจะพอใจในที่สุดค่ะ

ลองให้ครู หรือสมาชิกในครอบครัวอ่านเรียงความของเรา ถึงแม้ว่าเราจะมีความมั่นใจ และได้ให้เพื่อนตรวจทานเรียงความแล้วนั้น น้องๆ ควรจะขอคำปรึกษา หรือเช็ค Feedback จากบุคคลที่มีความรู้เกี่ยวกับภาพรวมงานเขียนของเรา รวมไปถึงรายละเอียดตั้งแต่การเลือกหัวข้อไปจนถึงโครงสร้างประโยค อาจจะขอความช่วยเหลือจากครูสอนภาษาอังกฤษ เพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัวก็ได้ค่ะ

ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ่อยในการเขียน Essay

ไม่เขียนเรื่องราวตามความเป็นจริง ทุกคนก็คงจะทราบบกัยดีใช่ไหมคะ ว่าในแต่ละปี มหาวิทยาลัยและกรรมการได้อ่านเรียงความเป็นพันๆ ฉบับ ดังนั้นใครที่เขียนเรื่องแต่ง เรื่องราวที่ไม่จริง และถึงจะเป็นสิ่งมหาวิทยาลัยอยากจะได้ยินก็ไม่ควรเขียนลงไปนะคะ เขียนแค่ประสบการณ์จริงของตนเองจะดีกว่า และอย่าเสี่ยงเขียนเรื่องที่เราได้แนบไปกับเอกสารอื่นอยู่แล้วค่ะ อธิบายความสามารถ และเป้าหมายตนเองให้ชัดเจน เพื่อให้กรรมการมั่นใจได้ว่าถ้าเขารับเราเข้าไปเรียน เราจะทำได้ดี

ใช้เรียงความฉบับเดียวสำหรับทุกมหาวิทยาลัย เราไม่สามารถใช้เรียงความฉบับเดียวเพื่อที่จะสมัครทุกมหาวิทยาลัยนะคะ จะต้องเขียนใหม่ทุกครั้งในแต่ละที่ เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีจุดเด่นที่ดึงดูดเราแตกต่างกันออกไป

ทำผิดข้อบังคับ น้องๆ ควรอ่านข้อบังคับการเขียนเรียงความที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ กำหนดให้ถี่ถ้วน แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีข้อกำหนดแตกต่างกันไป เช่น กำหนดคำทีเขียนจำนวน 600 คำ ก็ต้องเขียนให้อยู่ในจำนวนนั้น มีความสมบูรณ์และตรงประเด็นที่สุด กรรมการหลายๆ ท่านจะประเมินจากกฏระเบียบข้อบังคับเบื้องต้นเหล่านี้แหละค่ะ เพื่อดูว่าเราสามารถทำตามข้อปฏิบัติได้หรือไม่ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการเป็นนักเรียนที่ดีค่ะ

ตอบไม่ครบทุกคำถาม การวัดทักษะอีกประเภทก็คือ การตอบคำถามค่ะ ในใบสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอาจมีโจทย์ให้เราเขียนคำตอบ บางข้อก็อาจถามมากกว่าหนึ่งคำถาม น้องๆ จะต้องตอบคำถามให้ครบและครอบคลุมนะคะ หลายคนผิดพลาดเพราะเรื่องนี้

เขียนชมมหาวิทยาลัยจนเกินจริง การชมเกินจริงก็ดูเหมือนเป็นการประจบประแจงนั่นเองค่ะ แน่นอน ทุกคนย่อมมีมหาวิทยาลัยในฝัน เราแสดงความสนใจได้ค่ะ แต่ต้องมีลิมิต มีขอบเขต ไม่ต้องอวยจนเกินความจริงนะคะ

เขียนเรื่องราวจำเจที่คนอื่นๆ ก็เขียนกัน การเขียนเรียงความ นอกจากเรื่องที่เขียนเป็นเรื่องจริง แสดงถึงความเป็นตัวของตัวเองแล้ว คณะกรรมการยังชอบเรื่องราวที่ไม่จำเจ เพราะคณะกรรมการก็อ่านเรียงความมามากมายหลายพันฉบับอยู่แล้ว พวกเขาอยากจะเห็นในเรื่องความพยายามที่จะแตกต่าง สิ่งที่บ่งชี้ถึงความสำเร็จ ค้นหาสิ่งที่มีเพียงเราเท่านั้นที่จะทำได้ แล้วเรียบเรียงเรื่องราวของเรา เพื่อทำให้ผู้อ่านจดจำขึ้นมาให้ได้ค่ะ

ไม่เผื่อเวลาในการเขียนเรียงความ ควรให้เวลาในการเขียนเรียงความมากที่สุด เพื่อให้ผลงานเราออกมาดี รวมไปถึงการให้เวลาเพื่อปรับแต่ง แก้ไขเรียงความให้ออกมาครบถ้วนสมบูรณ์ด้วยนะคะ การมีเวลาปรับแต่งเรียงความ เป็นสิ่งที่ดีกว่าการมาเขียนเรียงความในตอนเกือบสุดท้าย นอกจากจะต้องเผชิญกับความกดดันแล้วยังเสี่ยงกับความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น จนลืมใส่บางอย่างที่น่าสนใจในตัวเราอีกด้วยค่ะ

เคล็ดลับต่างๆ ที่นำมาฝากวันนี้ จะช่วยให้น้องๆ สามารถเขียนเอสเสที่น่าจดจำเพื่อใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัยตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ลองเขียนไว้เป็นตัวอย่างก่อนก็ได้นะคะ จะได้มีเวลาเผื่อสำหรับการปรับปรุงแก้ไข ไม่ตกหล่นข้อมูลใดๆ ยิ่งมีเวลามากเท่าไหร่ งานเขียนของเราก็จะยิ่งออกมาสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้นค่ะ แล้วมหาวิทยาลัยในฝัน ก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน ! สำหรับน้องๆ ที่สนใจหรือต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษใน สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ แคนาดาสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไซปรัสและมอลต้า สามารถ ลงทะเบียนขอรับคำปรึกษาจากพี่ๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนต่อต่างประเทศของ SI-English ได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปค่ะ

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

การสอบ IELTS TOEIC และ TOEFL แตกต่างกันอย่างไร

4 เทคนิคการเขียน essay แบบมืออาชีพ

Checklist เตรียมตัวยังไง ก่อนไปเรียนภาษาที่ต่างประเทศ

© SI-English | All rights reserved | Privacy Policy